ประวัติ ของ เซ็นทรัล ลาดพร้าว

กลุ่มเซ็นทรัล โดยการนำของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ชนะการประมูลที่ดินรกร้างรูปสามเหลี่ยม บริเวณแยกลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดตัดถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนหอวัง ในพื้นที่แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร (ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแขวงจตุจักร เขตจตุจักร) มาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2521[5][8] และในอีกสองปีต่อมาก็ดำเนินการจัดตั้ง บริษัท เซ็นทรัล พลาซา จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เพื่อเป็นบริษัทในการบริหารจัดการศูนย์การค้าแบบครบวงจรบนพื้นที่ดังกล่าว[9] ไม่กี่เดือนต่อมา เซ็นทรัล ลาดพร้าว ก็เปิดบริการ โดยเปิดในส่วนของห้างสรรพสินค้าก่อนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2524[4], ส่วนของศูนย์การค้าเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2525[4], โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่าและบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพ) เปิดบริการเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2526[10] และมีพิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2526 ภายใต้แนวคิดในการจำหน่ายสินค้าแห่งเดียวเบ็ดเสร็จ (One-Stop-Shopping)[4]

เซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นที่ตั้งของร้านค้าสาขาแรก ทั้งในกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต (ต่อมาเปลี่ยนเป็น เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์), เพาเวอร์บาย, ซูเปอร์สปอตส์, บีทูเอส (ต่อมาได้ปรับรูปแบบเป็น บีทูเอส ธิงค์สเปซ) และนอกกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ เอ็มเคสุกี้[11] เคเอฟซี[12] สเวนเซ่นส์[13] เอ แอนด์ ดับบลิว[14] บาร์บีคิวพลาซ่า[15] เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า[16] เป็นต้น[17] นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา และ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ก่อนย้ายไปยังโครงการเซ็นทรัลเวิลด์

ต่อมา รฟท.จัดการประมูลที่ดินสามเหลี่ยมบริเวณแยกลาดพร้าว พร้อมทั้งอาคารศูนย์การค้าบนที่ดินดังกล่าว ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เนื่องจากใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดสัญญาเช่าที่ดินกับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาแล้ว ซึ่งผลการประมูลปรากฏว่า รฟท.ประกาศต่อสัญญากับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ต่อไปอีก 20 ปี[18][5] โดยใช้งบลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท หลังจากนั้นทางบริษัทได้ดำเนินโครงการปรับปรุงกลุ่มอาคารครั้งใหญ่ ด้วยมูลค่าทั้งหมด 3,000 ล้านบาท และปิดให้บริการเป็นระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม พ.ศ. 2553 แต่เนื่องจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ประกาศปิดตัวเอง โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองบริเวณแยกราชประสงค์ และต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงไหม้ จนตัวอาคารพังถล่มลงมา หลังจากที่กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว[19]

ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อร้านค้าและลูกค้า ตลอดจนรายได้และกระแสเงินสดของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาเอง จึงเลื่อนกำหนดการปิดปรับปรุงศูนย์การค้าที่ลาดพร้าว ออกไปเป็นระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-28 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ ในส่วนของอาคารสำนักงาน บริษัทฯ เริ่มดำเนินการไปก่อน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน และอาคารส่วนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนด้วยกัน[4][19] แต่หลังจากเปิดให้บริการใหม่ได้ไม่นาน อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ขยายขอบเขตมาถึงบริเวณแยกลาดพร้าวในราวเดือนพฤศจิกายน ศูนย์การค้าจึงต้องเลื่อนเวลาปิดให้บริการเป็น 21:00 น.ซึ่งเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 จากนั้นต้องปิดให้บริการ ระหว่างวันที่ 4-17 พฤศจิกายน หลังจากนั้น คือตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน กลับมาเปิดให้บริการโดยปรับเวลาปิดให้บริการเป็น 21:00 น.[20][21]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เซ็นทรัล ลาดพร้าว http://barbqplaza.com/?page_id=115 http://centel.listedcompany.com/misc/AR/20150403-C... http://cpnreit.listedcompany.com/misc/ar/20180328-... http://www.ryt9.com/news/2006-11-22/5490575/ http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.wikimapia.org/#lang=en&lat=13.816944&lo... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ppp.sepo.go.th/project/view/16 https://marketeeronline.co/archives/135145 https://marketeeronline.co/archives/180652